Thursday, August 15, 2013

จาก กรุงเทพ...เมืองเทวดา ถึง เมืองคนดี...สุราษฎร์ธานี

การเดินทางวันที่ 109-119 จากกรุงเทพฯถึงอุทยานแห่งชาติคลองพนม สุราษฎร์ธานี

          บ่ายสามของวันที่ 4 สิงหาคม 2556 วันที่ 109 ของการเดินทาง เราขึ้นขี่จักรยานคันเดิมพร้อมสัมภาระฟุลโหลดอีกครั้ง ถือเป็นการออกเดินทางที่สายมากที่สุดนับตั้งแต่ออกเดินทางมา แต่เรารอต่อไม่ได้แล้ว เพราะตามแผนเราควรจะออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมแล้วด้วยซ้ำ แต่มัวแต่สะสางปัญหาบางอย่างอยู่ ตอนแรกกะว่าออกเดินทางวันแรกจะไปค้างคืนที่อัมพวา แต่ด้วยเวลาล่วงเลยมาเกือบเย็น คงไม่สามารถปั่นไปถึงอัมพวาที่อยู่ห่างออกไปกว่า 70 กิโลเมตรได้แน่นอน ก็เลยโทรหาเพื่อนที่อยู่แถวพระราม 2 เพื่อไปพักบ้านเธอ

           เช้าวันต่อมาจึงออกเดินทางต่อ โดยปั่นไปตามถนนบางขุนเทียนชายทะเล ซึ่งมีทางหลวงชนบทไปจนถึงตัวเมืองสมุทรสาคร จากนั้นจึงกลับเข้าสู่เส้นพระราม 2 อีกครั้ง แต่ไม่ได้แวะตลาดน้ำอัมพวาตามที่คิดไว้แล้ว เพราะมันต้องแยกออกไปจากทางหลัก เราปั่นต่อไปตามทางหลวงสายชนบทที่มีป้ายบอกเป็นทางไปถึงหาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน และหาดชะอำของเพชรบุรี วิวสองข้างทางส่วนใหญ่มีแต่นาเกลือ จนกระทั่งก่อนถึงหาดเจ้าสำราญประมาณ 20 กม. ฟ้าก็ใกล้มืด เลยหาที่พักเป็นวัดแถวนั้น บังเอิญเจ้าอาวาสไม่อยู่ พระที่เฝ้าวัดเลยไม่กล้าให้นอน บอกให้ไปหาป้อมยามตำรวจที่อยู่หน้าวัด สุดท้ายเขาก็บอกให้กางเต็นท์นอนใต้ศาลาที่มีพระพุทธรูปสีขาวประดิษฐานอยู่ด้านหน้าโบสถ์ไม้สักหลังงาม ที่มีคนมานอนเฝ้าตอนกลางคืน ช่วงหลังๆรู้สึกว่าจะไม่ค่อยได้รับการต้อนรับจากวัดนัก อาจจะเป็นเพราะผมยาวรกรุงรัง ทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่น่าไว้วางใจหรือเปล่า

วัดนอกปากทะเล ก่อนถึงหาดเจ้าสำราญ 20 กม.
         เราแวะเที่ยวชมหาดสามหาดที่อยู่ตามทางทางมาเรื่อย นักท่องเที่ยวบางตา บรรยากาศดูเงียบเหงา ชะอำดูคึกคักกว่าเพื่อน ที่นี่เราลองเอาเครื่องมือไขเพื่อปรับตรงสายเกียร์ เพราะรู้สึกว่าโซ่กับอุปกรณ์เปลี่ยนสายเกียร์มันชิดกันเกิน ทำให้เกิดเสียงเวลาปั่น แต่แทนที่จะแก้ปัญหาได้ กลับทำแย่กว่าเดิม แต่ก็พอปั่นต่อไปจนถึงหัวหิน โดยกลับเข้าสู่ถนนเพชรเกษมอีกครั้งหนึ่ง เส้นทางลัดทางหลวงชนบทสายนี้ ทำให้เราไม่ได้ปั่นผ่านตัวเมืองเพชรบุรี ไม่ได้ผ่านเขาวัง ไม่ได้เห็นร้านขายขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ กิมอะไรต่างๆ

           ปั่นมาถึงหัวหินตอนเย็นๆ จนเกือบมืดแล้ว พยายามหาที่พักราคาถูก แต่เต็ม ที่เหลืออยู่ก็ 400-500 บาททั้งนั้น จนกระทั่งมาเจอเกสต์เฮ้าส์ชื่อ King's Home เขามีห้อง 200 บาท ดูแล้วเป็นเหมือนห้องเก็บของใต้หลังคา เวลาเข้าห้องต้องปืนบันได เปิดประตูดันขึ้น เหมือนบ้านต้นไม้ เจ้าของเกสต์เฮ้าส์เรียกห้องนี้ว่า ทรีเฮ้าส์ เห็นแล้วก็ตัดสินใจเอาเลย ขี้เกียจหา แม้ว่ารู้สึกว่าถ้าพิจารณาเฉพาะสภาพห้องที่เล็กแบบนั้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แถมใช้ห้องน้ำรวม ควรจะราคาแค่ 100 บาท แต่อีก 100 บาท ถือเป็นการซื้อความฝัน เพราะชอบห้องแบบนี้ ดูมีโลกส่วนตัวเล็กๆ คืนนั้นก็เลยเหมือนได้ย้อนวัย เหมือนเด็กได้ของขวัญชิ้นใหม่ แต่ไม่ได้เห่อของขวัญนานนัก ก็ออกไปเดินดูหัวหินยามค่ำคืน หนีไม่พ้นไนท์บาซาร์


พักห้องใต้หลังคาที่เกสต์เฮ้าส์ในหัวหิน
          ได้กางเกงที่เหมาะกับการปั่นจักรยานมา 1 ตัว แม้ว่าราคาจะแพงไปหน่อย ตั้ง 430 บาทแน่ะ ต่อแล้วนะนั่น มันเป็นกางเกงคล้ายกางเกเล แต่เอวเป็นยางยืดมีสายผูกด้วย เป้ายานๆ ขาลีบ ไม่บานเหมือนกางเกงเล ใส่ปั่นจักรยานได้ไม่ต้องกลัวเข้าโซ่ ใส่นอนได้ไม่ร้อน กันยุงกัดขาได้ด้วย ช่วงหลังมีปัญหากับยุงมากเหลือเกิน เข็ดกับแผลพุพองจากการเกาเพราะอาการคันจากยุงกัด

          วันต่อมาก็ปั่นออกจากหัวหินพร้อมกับกางเกงตัวใหม่ที่คาดว่าจะกลายเป็นตัวเก่ง หลังจากเอาจักรยานไปเปลี่ยนสายเกียร์ใหม่แล้ว แต่เสียงผิดปกติก็ยังมีอยู่ เอาไว้ไปแก้ที่ภูเก็ตอีกทีก็แล้วกัน กะว่าจะเปลี่ยนจานหน้าและโซ่ใหม่ด้วย เพราะมันเก่าและสึกแล้ว ปั่นออกจากหัวหินได้ไม่กี่กิโล ก็เจอปัญหายางรั่วอีกแล้ว หลังจากเช้าเมื่อวานก็เพิ่งเปลี่ยนยางในไปหยกๆ คราวนี้ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนยางนอกเส้นใหม่เลย เพราะเส้นเดิมที่ใช้งานมากว่า 6000 กิโลเมตรนั้น ดอกยางสึกแล้ว นั่นเองคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เศษแก้ว เศษหิน เข้าไปติดคาอยู่ในเนื้อยาง และทำให้ยางในรั่วบ่อยๆ

          วันนี้ปั่นเกือบถึงกุยบุรี บังเอิญเจอป้อมยามตำรวจริมทางที่มีป้ายว่า ฟรีไวไฟ ก็เลยลองเข้าไปขอกางเต็นท์นอน มีตำรวจเข้าเวรอยู่คนหนึ่ง เป็นคนอีสานภาคเดียวกัน แกเลยดูจะใส่ใจเรามาก ย้ำนั่นย้ำนี้ จัดที่ทางให้เรากางเต็นท์นอน ก่อนที่แกจะออกไปธุระ นี่เป็นคืนที่สองที่ได้นอนกับตำรวจ คืนแรกอยู่แถวระยอง ชลบุรีโน่น นอนกับตำรวจก็สบายใจดีเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำห้องท่าก็สะดวก แถมที่นี่มีสัญญาณไวไฟให้ใช้ฟรีด้วย

          ช่วงนี้ปั่นจักรยานไปตามถนนเพชรเกษม ถนนสายหลักที่มุ่งลงภาคใต้ของไทย รถราเยอะ แต่เราก็ปั่นอยู่บนไหล่ทางไปเรื่อยๆ ระหว่างที่คิดว่าคืนนี้จะไปนอนวัดหรือนอนป้อมยามดี ก็ปั่นผ่านป้ายที่บอกว่าทางเข้าอุทยานแห่งชาติหาดวนกรอยู่ข้างหน้าอีกไม่กี่กิโล ณ วินาทีนั้น ก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะเข้าไปกางเต็นท์นอนที่หาดแห่งนี้ ซึ่งเราเคยมาอบรมพร้อมกับเพื่อนก่อนไปโครงการเรือเยาวชนเมื่อปี 2548

          หาดวนกร วันนี้ต่างจาก 8 ปีก่อนมาก อาคารเก่าถูกรื้อถอน มีอาคารใหม่แทนที่ แปลกตาจากเดิม ที่เหมือนเดิมก็คือสวนสนริมหาดที่ยาวตลอดแนวเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เราหาทำเลกางเต็นท์นอนอยู่ในสวนสนริมหาด ห่างไปไม่กี่สิบเมตรก็มีนักปั่นทัวร์ริ่งอีกคนกางเต็นท์นอนอยู่ เราทักทายเขาตอนเขาเดินเล่นที่ชายหาด พี่เขาพยักหน้าให้ จากท่าทางของแก เราว่าแกคงอาจจะต้องการโลกส่วนตัว ไม่อยากพูดคุยกับใคร เราเลยไม่ได้เข้าไปพูดคุยทำความรู้จัก ทั้งที่อยากจะเข้าไปคุยเรื่องการเดินทางกับพี่แกอยู่เหมือนกัน

เตรียมกางเต็นท์นอนริมหาดวนกร

          ในที่สุดเราก็ได้เล่นน้ำทะเล แบบเต็มที่ โดยไม่ต้องทนแสบแผลที่ขาแล้ว แผลหายทิ้งแต่รอยแผลเป็นไว้หลายรอยให้ดูต่างหน้า เป็นการเตือนใจให้ระวังยุง ระวังมือ อย่าเกาพร่ำเพรื่อ เดี๋ยวจะกลายเป็นแบบเดิมอีก

          เช้าวันต่อมา กว่าจะออกจากหาดก็สายเกือบเที่ยงแล้ว ปั่นไปเรื่อยๆ ตามถนนสายเดิม แต่ก็ยังไม่ออกจากเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เสียที คืนนี้ได้มาขอค้างคืนที่วัดริมทาง กางเต็นท์นอนหน้ากุฏิพระ มีปลั๊กให้เสียบชาร์จไฟ มีพัดลมพัดให้นอนหลับสบาย หลวงพ่อกับหลวงพี่ ดูจะสนใจการเดินทางของเรามาก ท่านสอบถาม หลายเรื่อง เราก็นั่งเล่าให้ท่านฟังถึงการเดินทางที่ผ่านมาสามเดือน และแผนการเดินทางในช่วงต่อจากนี้อีกสี่ถึงห้าเดือน ซึ่งเราเองก็ยังไม่ค่อยชัดเจนเรื่องเส้นทางนัก นี่เราชะล่าใจเกินไปหรือเปล่าเนี่ย

          เราตัดสินใจที่จะแวะเที่ยวเกาะเต่า โดยนั่งเรือจากชุมพร แล้วไปขึ้นฝั่งที่สุราษฏร์ธานีค่อยปั่นต่อไปภูเก็ต เพราะช่วงหลายวันมานี้ปั่นติดต่อกันไม่ได้พักเลย จนรู้สึกกล้ามเนื้อมันล้าไปหมดทั้งตัว อยากจะพักเต็มที่แล้ว

          ปั่นไปถึงท่าเรือท่ายางนอกเมืองชุมพรประมาณ 7 กม.เพื่อขึ้นเรือแพขนาดใหญ่ ห้องโดยสายติดแอร์และมีเตียงให้นอนด้วย ราคาตั๋ว 400 บาท เขาคิดค่าจักรยานอีก 100 บาท เรือลำใหญ่จนแทบไม่รู้สึกถึงคลื่นลมในทะเลเวลาเรือแล่น แต่แอร์ที่ตกลงมาบริเวณเตียงที่เรานอนพอดี ทำให้หนาวและนอนหลับไม่ค่อยสบายนัก เช้ามืดตีสี่กว่า เรือก็เทียบท่าที่เกาะเต่าแล้ว เราต้องเอาจักรยานขึ้นจากเรือ แล้วมานอนต่อที่ศาลาพักผู้โดยสาร แต่ก็หลับไม่ต่อเนื่อง พอฟ้าสว่างก็ปั่นจักรยานออกไปหาที่พัก

เรือแพขนาดใหญ่ จากชุมพรไปเกาะเต่า
         ช่วงนี้นักท่องเที่ยวฝรั่งเต็มเกาะเต่าไปหมด จนทำให้ที่พักส่วนใหญ่จะเต็ม หาที่พักราคาถูกยากมาก ถูกสุดเท่าที่เจอก็คือ 300 บาท คืนแรกพักแบบบังกาโลหลังละ 500 บาท มันก็โอเคนะ แต่เราอยากได้ที่ถูกกว่านี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เพราะเหนื่อยและต้องการพักเต็มที เลยยอมจ่าย แล้วเราก็งีบหลับไปเพราะความเมื่อยล้า กล้ามเนื้อมันล้าไปหมด กว่าจะลุกจากเตียงก็เกือบสี่โมงเย็นแล้ว ถึงได้ออกไปดูนั่นดูนี่

         เกาะเต่า เล็กกว่าที่คิด ดีไม่ดี อาจจะเล็กเท่าๆกับเกาะล้านด้วยซ้ำ กว้าง 3 กม.กว่า ยาว 7 กม.กว่า ถนนสายหลักที่รถยนต์ขับไปได้ก็มีแค่นิดเดียว ระหว่างที่ปั่นหาหาดฟรีดอมบีชอยู่นั่น ก็เจอร้านซ่อมจักรยาน เลยแวะให้ช่างดูเรื่องสายเกียร์ให้สักหน่อย แต่ช่างเขาแก้ไขเรื่องเบรกหลังให้ด้วย เสร็จแล้วยังให้แผนที่เกาะเต่ามาดูพร้อมแนะนำที่เที่ยวเสร็จสรรพ บริการดีจริงๆ

         บนเกาะอะไรๆก็แพง เพราะกว่าจะขนขึ้นลงเรือก็เสียค่าใช้จ่ายไปเยอะแล้ว ราคาสินค้าจึงต้องบวกเพิ่มตามต้นทุน แต่ก็ยังถูกกว่าสินค้าไทยที่ขายในลาวอยู่ดี ราคาข้าวราดแกงหนึ่งอย่างที่นี่ 40 บาทถูกสุด สองอย่าง 60 บาท ตามสั่งขั้นต่ำก็ 60 บาทต่อจาน ดีที่เราไม่ต้องเสียค่าเดินทางระหว่างอยู่บนเกาะ เพราะใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไปโน่นมานี่ตลอด

         ในที่สุดก็หาทางไปลงหาดฟรีดอมจนเจอ บรรยากาศคล้ายๆกับหาดส่วนตัวเลย เพราะต้องผ่านรีสอร์ทก่อน หาทางลงหาดสาธารณะไม่เจอ หาดนี้เป็นหาดเล็กๆ มีปะการังและปลาเล็กๆหลายสีให้ดูด้วย ที่เห็นเพราะเอาแว่นตาว่ายน้ำติดไปด้วย ก็เลยได้ดำดูความสวยงามใต้น้ำบ้างนิดหน่อย ปะการังที่หาดนี่ใหญ่ และคล้ายสมองมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเห็นแบบนี้ แบบอื่นไม่ค่อยมี นอกจากนั้นก็มีปลิงทะเลสีม่วงอ่อน และหอยเม่น เอกลักษณ์ของหาดนี้อีกอย่างก็คือนักท่องเที่ยวจะเก็บเปลือกหอย และของที่อยู่ริมหาด มาร้อยแล้วผูกห้อยไว้ที่กิ่งไม้ริมหาด ก็เลยมีคนทำตามๆกัน จนกลายเป็นมู่ลี่ห้อยอยู่ตามกิ่งไม้ นอกจากนี้ก็มีชิงช้าอยู่หลายอันด้วย อ้อ ที่สำคัญที่นี่มองเห็นแหลมที่มีหินขนาดใหญ่วางตั้งๆกันสูงขึ้นไปบนเขา สวยมาก เขาเรียกว่าหินตาโต๊ะ เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ของเกาะ แล้วก็มีศาลตาโต๊ะให้คนกราบไหว้ด้วย

ปะการังริมฝั่งที่หาดฟรีดอม เกาะเต่า
        เพลิดเพลินกับการเล่นน้ำจนเกือบฟ้ามืด ก็กลับ แวะกินอาหารตามสั่งก่อนกลับที่พักนอน ที่เกาะเต่ามีโรงเรียนสอนดำน้ำเยอะมาก แล้วเขาทำในลักษณะเป็นรีสอร์ทคือให้คนที่มาเรียนดำน้ำพักกับเขาไปด้วยเลย ราคาคอร์สเรียนดำน้ำแบบโอเพ่นวอเตอร์อยู่ที่ 9000 บาทรวมที่พักฟรี 4 คืน ซึ่งถือเป็นราคาที่ถูกนะ เพราะส่วนใหญ่ที่เจอจะหมื่นขึ้นแถมไม่มีที่พักให้ด้วย เราเองก็อยากจะลองเรียนดำน้ำ แต่ติดที่ว่าอยากหาเพื่อนเรียน เพราะมันก็ดูน่ากลัวเหมือนกัน มีเพื่อนสนิทเรียนด้วยจะได้ไม่เหงา และดูอุ่นใจเวลาลองดำ ตอนแรกชวนเพื่อนเรียน แต่สุดท้ายด้วยจังหวะเวลาไม่ลงตัว ก็เลยไม่ได้เรียนกัน เราเองยังต้องเดินทางเยือนเมืองชายหาดอีกหลายแห่ง ไว้ค่อยหาที่เหมาะๆเรียนก็แล้วกัน

         ช่วงที่อยู่เกาะเต่า ลองปั่นจักรยานเล่นไปตามทาง คือปั่นไปมั่วๆ ไม่ได้สนใจอะไรมาก ไปตามป้ายบอกทางตามใจชอบ จนไปถึงทางที่ไปหาดแมงโก้ ก็เลยลองปั่นไปตามทางคอนกรีต ซึ่งไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่ เพราะมันเป็นทางสายเล็กๆ บางช่วงก็ทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่เราก็ยังอยากลองปั่น ทางชันมากก็ยังอุตส่าห์ใส่เกียร์ต่ำสุดปั่นขึ้นไปจนได้ จนกระทั่งไปถึงจุดที่มีคนสร้างศาลาเหมือนบาร์ไว้ มีนกขุนทอง หมา และลิงอย่างละตัว อยู่เป็นเพื่อน หลังจากนั่งพักและมองดูความชันของเส้นทางที่ปั่นขึ้นมา และเส้นทางที่ทอดยาวขึ้นไปบนเขา ก็เริ่มชั่งใจแล้วว่าจะไปต่อดีหรือเปล่า พอหายเหนื่อยแล้วลองปั่นขึ้นต่อไป ก็ต้องเปลี่ยนใจ กลับดีกว่า ทางชันแบบนี้ ขากลับจะลำบาก ช่วงที่ลงจากเนินตรงนั้น เราเกือบจะล้ม เพราะความชันทำให้รถไหลลงด้วยความเร็ว เมื่อกำเบรกแน่นไป ล้อก็ไถลไปกับพื้น สุดท้ายเราหยุดรถได้แล้วก็รีบลงมาจูงจักรยานลงเนินอย่างช้าๆ ปลอดภัยไว้ก่อน เพราะยังต้องไปอีกไกล พอกลับถึงย่านชุมชน ก็หาที่นวดเลย อยากนวดมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แม้ว่าอาการเมื่อยล้าจะหายไปหลังจากได้พักเต็มที่ในวันก่อนหน้า

มาได้แค่นี้ ก็กลับ ตอนปั่นลงเกือบล้ม จนต้องลงจูงรถ

        วันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันที่สามบนเกาะเต่า และเป็นการเดินทางวันที่ 118 ของทริปนี้ เราซื้อทัวร์ไปดำน้ำรอบเกาะ ราคา 750 บาท ก็โอเค ในเมื่อเกาะเต่าขึ้นชื่อเรื่องดำน้ำ ใครๆมาที่นี่ก็มาเพื่อดำน้ำกันทั้งนั้น เราก็ไม่ควรพลาด แน่นอนนักท่องเที่ยวเกือบทั้งลำเรือเป็นฝรั่ง ยกเว้นมีชาวจีน 4 คน และคนไทยมีเราเป็นนักท่องเที่ยวเพียงคนเดียว ส่วนคนไทยคนอื่นๆบนเรือก็คือพนักงานของบริษัททัวร์ทั้งสิ้น

        ช่วงออกเรือคลื่นค่อนข้างใหญ่ เรือกระแทกคลื่นที ทำเอาน่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย โดยรวม ก็โอเค มีปะการังสวยๆ หลายรูปแบบให้ดู มีปลาหลายชนิด นับไม่ถูกว่ากี่ชนิด และไม่รู้ชื่อว่าปลาอะไร แต่โดยรวมก็เป็นปลาเล็กๆที่มีหลายสี หลายแบบ สวยงาม บ้างอยู่กันเป็นฝูง บ้างว่ายอยู่เดี่ยวๆ เราก็ดำน้ำดูจนเพลิน ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอใต้น้ำไปด้วย มีช่วงหนึ่งที่คิดอยากจะลองดำน้ำลงไปดูปะการังใกล้ๆ เพราะเคยทำตอนที่ไปดำน้ำแบบสน็อกเกิ้ลที่เกาะมันนอกเมื่อสิบปีก่อนได้ ยังจำได้ว่าเราสามารถดำน้ำลงไป ว่ายน้ำประหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลชนิดหนึ่ง ความรู้สึกมันอิสระเหมือนกำลังได้โบยบินอยู่ในท้องฟ้า เพียงแต่เรากำลังว่ายน้ำอยู่ในท้องทะเลเท่านั้น เราแค่อยากสัมผัสความรู้สึกแบบนั้นอีก แต่พอลองดูครั้งแรกไม่สำเร็จ และทำเอาเราเกือบสำลักน้ำ เราไม่กล้าลองครั้งที่สอง เพราะกลัวเป็นอะไรไปจะแย่เอา สุดท้ายก็กลับมาใส่ชูชีพลอยน้ำดูปะการังจากระยะผิวน้ำเหมือนเดิม จุดแวะสุดท้ายคือเกาะนางยวน ขึ้นเขาไปดูวิวชายหาดที่เชื่อมระหว่างเกาะ สวยมาก

เกาะนางยวน ชอบที่สุดในทริปดำน้ำรอบเกาะ

         ก่อนขึ้นเรือออกจากเกาะเต่า ไปนั่งร้านพี่ที่ทำงานบนเรือ ร้านแกเป็นแนวเรกเก้ ชอบมากเลย แกทำร้านเหมือนกับเป็นบ้านต้นไม้เลย เรานั่งโหลดรูป และชาร์จแบตเตอร์รี่ต่างๆที่นั่น จนได้เวลา ก็ออกมาหาข้าวเย็นกิน ก่อนไปลงเรือ

         เรือจากเกาะเต่าไปสุราษฏร์ไม่ใหญ่เหมือนลำที่มาจากชุมพร ถ้าเป็นเรือแบบนั้น เห็นมีคนบอกว่ามีแค่สามรอบต่อสัปดาห์ที่เดินทางจากเกาะเต่าไปสุราษฎร์ แต่วันนี้ก็มีแต่เรือแบบนี้แหละ ราคาตั๋ว 400 บาท เอาจักรยานขึ้นได้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ห้องโดยสายไม่ติดแอร์ มีเบาะกว้างประมาณสามคืบยาวไม่ถึงสองเมตรวางเรียงติดๆกันสองฝั่งสำหรับให้ผู้โดยสารนอน เวลาออกตั๋วเขาจะมีหมายเลขกำกับ เราก็ต้องนอนตามเบาะตามหมายเลขบนตั๋ว เรือออกสามทุ่ม ไปถึงตีห้า ดีที่แขกไม่ถึงกับเต็ม ทำให้เราไม่ต้องนอนเบียดกับคนข้างๆ

         คลื่นลม บางช่วงก็แรง จนเรือโคลง แต่เรากลับรู้สึกว่าหลับได้สบายมากกว่าตอนที่โดยสารเรือใหญ่มาที่เกาะเต่าเสียอีก เรือมาถึงท่าเรือบ้านดอน สุราษฎร์ ตอนเช้ามืด เราเข็นจักรยานขึ้นฝั่ง จัดการจัดสัมภาระให้เข้าที่ แล้วก็นั่งรอฟ้าสว่างถึงปั่นไปหาอะไรกิน และตัดสินใจปั่นเดินทางออกจากสุราษฎร์มุ่งหน้าไปทางอุทยานแห่งชาติเขาสก

          การเดินทางวันที่ 119 ซึ่งตอนแรกกะว่าจะแวะเขื่อนรัชประภา ที่ได้รับฉายาว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจมุ่งตรงไปอุทยานแห่งชาติเขาสกเลย แต่แล้วก็ไม่ถึง ตอนห้าโมงครึ่งมาถึงตรงสะพานแห่งหนึ่งวิวสวยมาก ภาพแบ็คกราวภูเขาหินที่อยู่เบื้องหน้า ทำให้เราอดใจไม่ไหวที่ต้องเอากล้องออกมาตั้งถ่ายตัวเอง แม้ว่าฟ้าใกล้จะมืด และยังเหลือระยะทางอีกเกือบ 20 กิโลกว่าจะถึงอุทยานเขาสก แต่หาได้หวั่นไม่ กะว่าถ้ามืดก่อนก็หาที่นอนระหว่างทาง แต่แล้วฟ้าก็ส่งตัวช่วยลงมาให้เรา มีพี่คนหนึ่งปั่นจักรยานผ่านมา เราเลยถามระยะทางไปอุทยานเขาสก เพราะกำลังสับสนกับป้ายที่เขียนว่า ภูผาลำธาร อุทยานแห่งชาติเขาสก สรุปว่าป้ายนี้มันหมายถึงรีสอร์ทหรูแห่งหนึ่ง พี่คนนี้ทำงานที่อุทยานแห่งชาติคลองพนม ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึงกิโลเมตร โอ้ ไม่รู้จริงๆว่าอุทยานแห่งนี้จะอยู่ติดถนนสายนี้ด้วย เพราะตอนที่ดูแผนที่ เหมือนจะอยู่อีกทางหนึ่ง สรุปก็เลยได้มาค้างคืนที่นี่ กางเต็นท์นอนใต้ศาล ที่มีปลั๊กไฟ มีน้ำร้อนน้ำเย็นให้กิน


วิวก่อนถึงอุทยานแห่งชาติคลองพนม สุราษฎร์ธานี
         ช่วงกลางคืน มีเจ้าหน้าที่มานั่งคุยกัน ดูโทรทัศน์ไปด้วย เราออกมานั่งเขียนบันทึก พี่เขาเลยถามเกี่ยวกับเรื่องการเดินทาง เขาบอกว่าทำงานที่นี่มาสิบกว่าปีเพิ่งเคยเจอนักเดินทางชาวไทยที่ปั่นจักรยานมาพักที่นี่ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ชาวต่างชาติ แถมบอกให้เราไปลงชื่อในสมุดเยี่ยมก่อนออกเดินทางต่อพรุ่งนี้เช้าด้วย
 

Saturday, June 8, 2013

ฮานอย...เมืองหลวงน่าปั่น สวรรค์นักชิม

          หนึ่งสัปดาห์เต็มๆที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม และหลงสเน่ห์เมืองนี้เข้าให้แล้ว นี่เป็นการเยือนกรุงฮานอยครั้งที่ 3 แต่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าได้มาถึงฮานอยแล้ว

           อาจจะเป็นเพราะการได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่นานกว่าครั้งก่อน มีเวลาอิสระเดินทางไปโน่นมานี่บนถนนที่พลุกพล่านไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์ในกรุงฮานอย ทำให้ผมเห็นภาพที่ต่างจากเดิม เห็นความมีชีวิตชีวาของเมืองนี้ และเริ่มจะหลงรักเมืองนี้ แม้ว่ารถราจะเยอะ ผู้คนจะขวักไขว่ แต่ผมรู้สึกว่าการเดินทางด้วยจักรยานในกรุงฮานอยเป็นอะไรที่สะดวกสบายมาก แม้ว่าจะพบเจอผู้คนส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซ์ในการสัญจร แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ใช้จักรยาน

           จักรยานนอกจากจะเป็นพาหนะของคนทั่วไปแล้ว ยังเป็นร้านค้าเคลื่อนที่ ที่พร้อมนำสินค้าร้อยแปดชนิดไปนำเสนอให้แก่คนถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้นานาชนิด อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน ดอกไม้ ต้นไม้ ขนม เต้าหู้ ไปจนถึงมีดประเภทต่างๆ และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน ถนนในฮานอยไม่ใหญ่มากนักและมีเป็นร้อยๆสาย เชื่อมต่อกัน ตัดกัน ทำให้การไปไหนแต่ละแห่งซอกแซกไปได้ เลี้ยวซ้ายที ขวาที แต่ต้องจำถนนให้ได้ว่าสายไหนเป็นสายไหน ดังนั้นคนที่ไปใช้ชีวิตในฮานอยไม่กี่วันอย่างผมก็ยังหลงทางอยู่ ปั่นไปโผล่ตรงนั้นตรงนี้ แต่สุดท้ายก็ถามทางคนกลับมาถึงที่พักจนได้ คนเวียดนามส่วนใหญ่จะจำชื่อถนนได้และรู้ว่าอยู่ตรงไหน คงเป็นเพราะเขาจำเป็นต้องจำในการเดินทางในชีวิตประจำวัน เวลาถามทางก็บอกชื่อถนนไป หรือเวลาบอกทางให้คนมาหาก็บอกเลขที่ตั้งของสถานที่นั้นพร้อมกับชื่อถนน

           ความวุ่นวายบนท้องถนนที่มองจากสายตาของคนนอก หรือผู้มาเยือน เอาเข้าจริงๆเมื่อลองมาใช้ชีวิตที่ฮานอย ผมกลับรู้สึกว่า มันคือการรู้จักแบ่งปันและผ่อนสั้นผ่อนยาวกันมากกว่า ถนนเขาไม่มีการแบ่งว่าเส้นนี้ใช้ได้เฉพาะรถ นี่เป็นเลนจักรยาน หรือนั่นเป็นทางมอเตอร์ไซค์ จะมีก็แต่ฟุตบาทที่สร้างไว้เฉพาะให้คนเดินเท่านั้น คนที่ใช้รถทุกประเภทจะใช้ถนนเล็กๆนั้นร่วมกัน และระมัดระวังซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นจึงมักไม่ค่อยมีอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าจะมีการรีบออกรถขณะไฟจราจรยังแดงอยู่และไฟเขียวยังไม่ทันขึ้น หรือการแซงเพื่อตัดเลน แต่แน่ล่ะเสียงแตรรถก็ดังอยู่แทบไม่หยุด แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่นี่

           ร้านค้าต่างๆในกรุงฮานอย ก็จะมีที่จอดรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานอยู่หน้าร้าน แถมมียามคอยเฝ้าให้ บางจุดก็จะเป็นที่จอดที่ต้องจ่ายค่าจอดตามระยะเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยจึงมีอยู่สูง แม้ว่าจะล็อคจักรยานโดยไม่ได้ยึดกับเสาหรือของที่เคลื่อนที่ไม่ได้ก็ตาม

           ตอนนี้มีร้านจักรยานทันสมัย ประเภทเสือภูเขา เยอะมากๆ ปั่นไปเจอบังเอิญหลายร้าน  แต่ร้านที่ทั้งรับซ่อมและขายจักรยาน มีไม่กี่ร้าน หนึ่งในนั้นคือร้านจักรยานริมทะเลสาปเวสต์เลคชื่อร้านเอ็กซ์ตาซี่ ซึ่งแบรนด์นี้มีหลายสาขา แต่อย่าคิดว่าจะเหมือนกัน เพราะเคยลองไปติดต่ออีกสาขาหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่พัก ปรากฏว่าไม่สนใจใยดีเราเลย ผิดกับร้านที่อยู่ริมทะเลสาปที่เป็นแบรนด์เดียวกัน แต่เขายินดีซ่อมยินดีบริการเต็มที่

           นอกจากนั้นการขี่จักรยานและมอเตอร์ไซค์ในฮานอยยังช่วยให้แวะทำธุระต่างๆสะดวกสบาย เพราะร้านรวงต่างๆจะตั้งอยู่ติดถนน ไม่ได้ไปรวมกันอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ส่วนบนทางเท้าก็จะมีร้านค้าและธุรกิจอีกหลายประเภท ไม่ใช่แต่เฉพาะร้านอาหารที่หลายคนคุ้นตา แต่ยังมีร้านตัดผม ช่างขัดรองเท้า ร้านรับซ่อมจักรยาน ทำกุญแจ อยู่ตามหัวมุมต่างๆ แต่ที่มากที่สุดก็คงไม่พ้นร้านอาหารบนทางเท้า ที่มีโต๊ะเตี้ยๆและเก้าอี้เล็กๆให้คนนั่งกินเป็นเอกลักษณ์ของเวียดนาม

           การปั่นจักรยานในฮานอย จะช่วยทำให้เห็นภาพเมืองหลวงแห่งนี้ในมุมต่างๆ บางมุมก็ดูวุ่นวาย แต่บางมุมก็ดูเงียบสงบอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยถนนหนทางที่เชื่อมต่อกันทั้งเมือง ขอมีเพียงแผนที่ และฝึกถามทางเป็นภาษาเวียดนามสักหน่อยก็ช่วยได้ และจะสนุกกับการปั่นจักรยานในเมืองหลวงแห่งนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะปั่นเที่ยว ปั่นไปทำธุระ หรือปั่นไปหาของกินอร่อยๆ

           ใครที่ชอบชิม ชอบกิน ชอบหาของอร่อย รับรองได้ว่าต้องหลงรักฮานอย เพราะเมืองนี้ของกินเยอะมาก เอาแค่อาหารบนทางเท้า ก็มีมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ได้มีเฉพาะเฝอ ที่เป็นเมนูสิ้นคิด เวลาไปเวียดนามของใครหลายคน เหมือนกับผัดกระเพราหมูสับใส่ใข่บ้านเรา แต่ถ้าลองไปเดินสำรวจดูร้านอาหารข้างทาง จะเห็นว่ามีของหน้าตาหน้ากินอีกเพียบ ทั้งคาว หวาน รวมทั้งเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชามะนาว

           เย็นวันแรกในฮานอย กินเฝอไก่กับเพื่อน ซึ่งถือเป็นเมนูพื้นๆของคนเวียด หากินได้ทุกที่ มื้อกลางวันวันที่สองเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันที่สถานีโทรทัศน์เวียดนาม พาไปกินข้าวผัด หรือที่ภาษาเวียดนามเรียกว่า "เกิมรัง" มีสองแบบคือแบบผัดใส่เนื้อมาเลย กับผัดเฉพาะข้าวแล้วแยกกับมาอีกจาน เย็นวันที่สองนี้ได้ลอง "บุ๋นฉ่า" เส้นบุ๋นก็คือเส้นขนมจีนบ้านเรานั่นแหละ ส่วนเส้นเฝอก็คือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กบ้านเรา บุ๋นฉ่าจะเป็นการกินขนมจีนกับ หมูย่างที่แช่ในน้ำซอสใสๆ แกล้มกับผักสด เป็นเมนูพื้นๆที่อร่อยมากเมนูหนึ่ง และผมชอบมากกว่าเฝอ วันที่สามเพื่อนเวียดนามเลี้ยงข้าวเป็นอาหารทะเลบนทางเท้า กินหอย แตงกวา มะม่วงจิ้มพริกเกลือ มันทอด แกล้มเบียร์ฮานอย ตามด้วยปลาหมึกปิ้ง กั้งเผาราดซอสมะขาม ตบท้ายด้วยข้าวต้มใส่หอย อร่อยเด็ดในราคาสองคนประมาณเกือบหนึ่งพันบาท มันแพงที่กั้ง หรือภาษาเวียดนามเรียกว่า "เบเบ"

          วันที่สี่เพื่อนอีกคนพาไปกิน "หน่อม" (ออกเสียงสั้นๆหนักๆ) ซึ่งผมของตั้งฉายาให้ว่า "ส้มตำเวียดนาม" เพราะเมนูนี้เขาใช้เส้นมะละกอทำ และใส่น้ำซอส ใส่เนื้อแผ่น ใส่หมูแดง ใส่ถั่วและผัก อร่อยดี

          อีกวันเพื่อนที่สถานีโทรทัศน์เวียดนาม ชวนไปกินเบียร์มื้อกลางวัน เขาจะอาหารมาเป็นชุดๆมาเป็นกับแกล้ม จานแรกคือถั่วต้ม จานที่สองคือปลาหมืกปิ้ง จานที่สามคือเต้าหู้ผัดกับผักที่น้ำซุปซึมเข้าไปในเนื้อเต้าหู้ เวลากัดน้ำจากข้างในจะไหลออกมา อร่อยมาก จานที่สี่คือปลาทอดกรอบ ติดใจเมนูนี้มาก เพราะปลาที่เขาเอามาทอดกรอบกินได้ทั้งตัวนั้น ท้องมันเต็มไปด้วยไข่ เวลากลางตัวปลาดูตามขวางจะเห็นแต่ไข่เต็มไปหมด กินกับน้ำจิ้ม อีกจานเป็นข้าวโป่งใส่งา คือแผ่นแป้งที่เอาไปอังไฟให้มันพอง และปิดท้ายด้วยข้าวผัด

 

          วันถัดมาสมาคมนักข่าวเวียดนามพาไปเที่ยวจังหวัดนิงห์บิ่งห์ ซึ่งมีอาหารขึ้นชื่อคือเนื้อแพะภูเขา มื้อเที้ยงวันนี้เลยมีแต่แพะ แบะๆๆๆ ลองกินทุกเมนู เอาเนื้อแพะห่อใส่แผ่นแป้งและผัก ตักน้ำจิ้มคล้ายถั่วใส่ ส่วนเมนูที่หน้าตาคล้ายซุปสีแดง มีถั่วโรย ทำจากเลือดแพะ ไม่มีใครในกลุ่มคนไทยกล้าลองชิม รวมถึงผมด้วย เพราะไม่รู้ว่าสุกหรือเปล่า แต่มื้อนี้ก็ผ่านไปอย่างเปรมปรีด์ เพราะว้อดก้าที่เจ้าหน้าที่สมาคมนักข่าวของนิงห์บิ่งห์เทให้แก้วต่อแก้ว ดีที่แก้วมันเล็กกระจิ๋วเดียว แต่กินไปร่วมสิบแก้วได้ ก็เล่นเอาเกือบเซเหมือนกัน
          
            ส่วนมื้อเย็นอีกวันหนึ่งเจ้าหน้าที่สมาคมนักข่าวเวียดนามพาไปเลี้ยงข้าวเย็น ร้านปลาทอดลาหว่อง ร้านดังที่มีสาขาของจริงอยู่สองสาขาในฮานอย แต่มีสาขาเก๊อีกหลายร้าน แถมตั้งอยู่เยื้องๆกันอีกต่างหาก บนถนนที่เชื่อว่า "จ๋าก๋า" หรือแปลว่า "ปลาทอด" นั่นแหละ เมนูนี้ เขาทอดปลาในกระทะร้อนตั้งอยู่กลางโต๊ะ ใส่ผักชีลาวกับหอม สุกแล้วตักใส่ถ้วยใครถ้วยมัน ราดด้วยน้ำกะปิ ตักถั่วลิสงโรยใส่หน่อย กินกับผักสดอีกหลายชนิด และเส้นบุ๋น หรือ ขนมจีน

           มื้อที่ไปกินคนเดียวก็เดินไปแถวทะเลสาปห่วนเกี๋ยม ของกินบนถนนใกล้ๆทะเลสาปเยอะมาก ลองกินข้าวหมูพะโล้ใส่ไข่ที่เหมือนไข่ลูกเขย เพียงแต่ไม่มีซอสมะขามราด ถ้วยละ 27,000 ด่อง ลองกิน "บุ๋นอ๊กบ์" (ออกเสียงว่า อ๊ก แล้วหุบปาก) หรือ เส้นขนมจีนในน้ำซุปที่ใส่หอย มีผักสดแกล้ม ชามละ 40,000 ด่อง เท่านั้น ในน้ำซุปมีกะปิด้วยนิดหนึ่ง
           ส่วนวันก่อนเดินทางออกจากฮานอย กินข้าวกับเพื่อนที่ร้านก๋วนอันงอน ซึ่งเป็นร้านที่อยากจะแนะนำเพราะมีเมนูอาหารหลากหลายจากทั่วทุกภาคของเวียดนาม เลือกกินได้ตามใจชอบในราคาที่ไม่ถือว่าแพง แม้จะแพงกว่ากินร้านทั่วไปหรือร้านบนทางเท้าก็ตาม

           มื้อนี้ได้กินแหนมสด แกล้มเบียร์ และแผ่นแป้งห่อผักกับหมูต้ม อีกจานเป็นแผ่นแป้งห่อผักกับกุ้งพันอ้อย ปิดท้ายด้วยของหวานที่ใส่มาในแก้ว มีทับทิมกรอบ วุ้น ถั่วเหลือง ตกเย็นไปหากินข้าว ก็เจอบะหมี่ใส่เป็ดตุ๋นพะโล้ เขาบอกว่าเรียกว่า "เหมียน กา ตอน" เป็นอีกเมนูที่ติดใจ ในราคา 40,000 ด่อง ยังไม่พอ ยังกินเนื้อปิ้งเสียบไม้ ที่ภาษาเวียดนามเรียกว่า "ถิด เซียน" อีกหนึ่งไม้ ไม้ละ 10,000 ด่อง

           ของหวานก็ได้ลองกินไอติม ซึ่งมีเยอะมาก ร้านดังจะอยู่แถวถนน "จ่างเตี่ยน" ถนน "ทังห์เนียน" และแถวทะเลสาปห่วนเกี๋ยม คนต่อแถวซื้อกันไม่ขาดสาย


           นอกจากนั้นก็มีของหวานข้างทาง บางอย่างหน้าตาเหมือนของไทย แต่เขาใส่โยเกิร์ต ทำให้รสชาติออกเปรี้ยว ไม่หวานเหมือนของไทย อ้อ ถ้าอยากจะลองโยเกิร์ต หรือไอศครีม และนม ยี่ห้อ "วีนา" รสชาติดี นอกจากนั้นก็ยังได้ลองขนมรถจักรยานที่เรียกว่า "โบ่เมี้ยะ" เป็นแผ่นแป้งโรตีสายไหม ห่อใส่เส้นมะพร้าว แล้วก็มีงา แล้วก็อะไรอีกอย่างไม่รู้ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับอ้อย หรือเปล่า เพราะ ชื่อคล้ายกัน เป็นขนมหวานอันละแค่ 5,000 ด่องเท่านั้น พูดถึงน้ำอ้อย ขอบอกว่าคนเวียดนามชอบกินน้ำอ้อยมา มีขายอยู่แทบจะทุกที่ แก้วละ 7,000-10,000 ด่อง

           นี่ยังไม่นับร้านกาแฟ ที่มีอยู่แทบทุกสิบก้าว คนเวียดนามนิยมกินกาแฟมาก แม้แต่ช่วงกลางคืนเขาก็นั่งกินกัน มีเยอะจนไม่รู้ว่าจะนั่งร้านไหนดี และร้านที่บรรยากาศน่านั่งก็มีอยู่ไม่มาก อ้อ บนนถนนเลียบทะเลสาปเวสต์เลคมีอยู่หลายร้านที่น่านั่ง กาแฟโบราณของเวียดนาม ที่ใส่กระดาษกรองแล้วให้มันหยดลงในถ้วย เรียกว่า "กาแฟฟิม" ฟิม หมายถึงหม้อเล็กๆที่วางไว้บนถ้วยกาแฟให้น้ำกาแฟหยดลงในถ้วย ถ้าใส่นมก็เรียกว่า "กาแฟเสือ" เพราะ เสือ แปลว่า นม

           อาหารเวียดนามรสชาติดี และราคาไม่แพง โดยเฉพาะอาหารข้างทาง ถ้ารู้จักหรือยิ่งมีเพื่อนเวียดนามพาไปกิน จะได้รู้ว่ายังมีของดีอีกเยอะ อร่อยๆทั้งนั้น อยู่ทั้งเดือนยังไม่รู้ว่าจะกินหมดหรือเปล่า แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่า ฮานอย เป็นสวรรค์ของนักชิมไปได้ยังไงล่ะ สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ ระวังของจะหล่นจากกระเป๋ากางเกงเวลานั่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ ตอนที่กำลังกินเพลินๆ

           

          
 

 

Thursday, May 9, 2013

ทางเส้นนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและไม่ได้ราดด้วยยางมะตอย

            เมื่อออกเดินทาง ผมถึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของแผนที่มากขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เรารู้ว่าควรจะไปทางไหนในยามที่ไม่รู้ว่าจะถามทางใครได้ หรือสื่อสารกับคนรอบข้างไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ดีที่ซื้อแผนที่ฉบับอินโดจีนครอบคลุมภาคอีสานของไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ติดตัวมาด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าควรจะต้องหามาไว้ด้วยในการเดินทางคราวต่อไปก็คือ จีพีเอส เพื่อความสะดวกในการดูพิกัดที่ตั้งของตัวเองในขณะนั้น และอีกอย่างสามารถที่จะดูรายละเอียดของเส้นทางคร่าวเพื่อใช้ประกอบการเดินทางได้ด้วย ทั้งในเรื่องของความสูงชันของพื้นที่ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งในการเดินทางโดยการปั่นจักรยาน อย่างน้อย ก็พอจะให้ช่วยกะเวลาในการเดินทางได้บ้าง

           แผนที่ที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถนนสายนั้นสายนี้ที่เห็นปรากฎบนแผ่นกระดาษนั้น มันไม่อาจบอกได้ละเอียดถึงสภาพของเส้นทาง ในแผนที่เราดูแล้วอาจคิดว่าเป็นทางลาดยางตลอดสาย แต่เอาเข้าจริงไป ปั่นไปถึงจุดหนึ่งกลับกลายเป็นทางดินแดงเสียอย่างนั้น

           ตั้งแต่ปั่นจักรยานข้ามพรมแดนลาว-เวียดนาม ที่ด่านนาเพ้าของลาว เข้ามาที่ด่านจาลอของเวียดนาม วิวสองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนไป วิวฝั่งลาวจะเป็นภูเขาหิน และช่วงที่จะข้ามพรมแดนก็ต้องปั่นขึ้นเขาอีก 18 กิโลเมตร ผ่านป่าที่ดูแห้งๆ แต่ฝั่งเวียดนามเป็นป่าที่ทึบกว่า มีพรรณไม้หลากหลายมากกว่า และมีคนปลูกพืช ทำไร่อยู่ตามเนินเขา ที่สำคัญมีลำธารสายยาวที่ไหลขนาบเคียงคู่ไปกับถนนสาย 12เอ และบางช่วงก็ไหลลอดใต้ถนน และกลับมาเคียงขนานกันไปอีกครั้ง เป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร สะพาน กระท่อม เป็นภาพประกอบสองข้างทางของถนนที่ทอดยาวอ้อมเขาลูกแล้วลูกเล่า มันช่างเป็นวิวที่ผมเห็นแล้วเห็นอีกก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ ใจอยากจะลงไปเล่นลำธารที่ไหลอยู่เบื้องล่างนั้นเสียจริง
              
 

          ขณะเดียวกันความรู้สึกในใจก็เริ่มเปลี่ยนไป ผมเริ่มมีความหวาดระแวงจากสายตาของคนในพื้นที่ที่จ้องมองมา ทั้งที่เวลาผมปั่นจักรยานผ่าน หรือเวลาที่ผมจอดจักรยาน กลุ่มคนที่นั่งล้อมวงเล่นไพ่อยู่หันมามองผมเป็นทางเดียวกัน ราวกับเจอตัวประหลาด ผมไม่ค่อยชอบแววตาแบบนี้นัก มันจะดีมากหากมาพร้อมกับรอยยิ้มและคำทักทายรื่นหู แต่การจ้องมองโดยไม่ปริปากและสีหน้าที่บึ้งตึงมันทำให้คนที่ถูกมองคิดไปไกล อีกอย่าง ความทรงจำที่เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นกับผมทางตอนใต้ของเวียดนามเมื่อเกือบเจ็ดปีก่อน ภาพนั้นมันยังปรากฎอยู่ชัด ผมจึงอดระแวง และรู้สึกหวั่นไหวมากขึ้นไม่ได้เมื่อเข้าสู่พรมแดนของเวียดนามด้วยการเดินทางเพียงลำพังเหมือนในครั้งนั้น


           ฝนยังคงตกปรอยๆ ต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มการเดินทางวันที่ 14 ผิดกับอากาศที่เมืองไทยที่ร้อนตับแลบ ถนนที่ผมปั่นยังคงเป็นสายเดิมที่ต่อมาจากลาว แต่สภาพของถนนฝั่งเวียดนามบางช่วงดูจะทรุดโทรม ชื่อถนนเปลี่ยนจากสาย 12 เป็นสาย 12A ผมปั่นไปตามถนนสายนี้ที่ไม่ค่อยจะมีรถสวนมา มีแต่รถบรรทุกและรถพ่วงขนาดใหญ่ที่แซงหน้าไป จนถึงช่วงหนึ่งก็เริ่มรู้สึกผิดสังเกต เพราะรถบรรทุกและรถโดยสารจอดอยู่บนถนนยาวเหยียดเป็นกิโลๆ เริ่มสังหรณ์ใจว่าข้างหน้าต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ และเป็นเช่นนั้นจริงๆ รถบรรทุกชนกับรถพ่วง หน้ารถอัดเข้ากับหน้าผาหินริมถนน ท้ายรถปัดไปอีกฝั่งกลายเป็นจระเข้ยักษ์ขวางคลอง ตัวรถเอียงกะเท่เร่ค้างอยู่อย่างนั้นจนน่ากลัวว่ามันจะล้มลงมาทับคนที่ลอดผ่านไปมา

           รถใหญ่ผ่านไม่ได้ ได้แต่รอเจ้าหน้าที่มาเคลียร์ทางให้ ส่วนรถเล็กอย่างมอเตอร์ไซค์ แก้ปัญหาด้วยการช่วยกันยกรถข้ามตรงช่องวางด้านหลังห้องคนขับ ทุลักทุเลไม่น้อยกว่าจะข้ามไปได้แต่ละคัน ส่วนผมก็ไม่รอเช่นกัน ปลดสัมภาระต่างๆออกจากจักรยาน แล้วขนลอดใต้ท้องรถบรรทุกไปอีกฝั่ง แล้วเอาสายเคเบิ้ลล็อคไว้ ทยอยขนไปจนเสร็จ ได้แผลจากการถูกเศษกระจกบาดที่หัวเข่ามานิดหน่อย จากนั้นค่อยยกจักรยานข้ามช่องรอยต่อระหว่างห้องคนขับกับตัวตู้คอนเทนเนอร์ ดีที่มีชาวเวียดนามช่วยยกด้วย จากนั้นก็ค่อยๆขนของผ่านท้ายรถพ่วงที่เอียงกะเท่เร่อีกด่านหนึ่ง จึงเอาสัมภาระขึ้นรถแล้วเดินทางต่อไป


           ปั่นไปเรื่อยจนถนนสายนี้ไปบรรจบกับถนนโฮจิมินห์ มันต่างจากแผนที่ฉบับที่ผมซื้อมาดู ซึ่งไม่มีชื่อของถนนโฮจิมินห์ปรากฏอยู่เลย เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ก็เลยต้องใช้ความรู้ภาษาเวียดนามที่มีอยู่กะท่อนกะแท่น ถามทางคนแถวนั้น ผมเลี้ยวซ้ายไปตามถนนโฮจิมินห์ และปั่นไปเรื่อยๆขึ้นเนินลงเนิน อ้อมเขาลูกนั่น ผ่านเขาลูกนี้ เป็นระยะทางร่วมหลายสิบกิโลเมตร ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงทางลงเขาเสียที

           มีช่วงหนึ่งที่กำลงจอดจักรยานข้างทาง เอากล้องวิดีโอออกมาบันทึกภาพอยู่ เด็กวัยรุ่นสองคนขี่มาเตอร์ไซค์มาคนละคัน ชะลอรถเข้ามาหาผม ผมรีบเก็บกล้องแล้วปั่นจักรยานต่อทันที ผมทักทายพวกเขาและบอกเป็นภาษาเวียดนามว่า กำลังจะไปห่าติ่งห์ พวกเขาพูดว่า "ดีโบ ดีโบ" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาต้องการพูดอะไร และต้องการอะไรจากผม แต่สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจแบบนี้ ก็ทำให้ผมตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งที่มีผู้ชายนั่งอยู่หน้าบ้าน แล้ววัยรุ่นชายสองคนนั้นก็จากไป

            เมื่อไปถึงทางแยกที่บอกว่าเชื่อมไปถนนสาย 15 ได้ ก็จอดแล้วควานหาแผนที่ในกระเป๋าสัมภาระออกมาดูเพื่อความแน่ใจ เพราะตามที่ศึกษามาเขาบอกให้แยกเข้าถนนสาย 17 เพื่อตรงไปจังหวัดห่าติ่งห์ มีคนมาช่วยดูแผนที่ แต่ก็ไม่ค่อยชัดเจน แต่อย่างน้อยก็รู้แหละว่าปั่นต่อไปข้างหน้าได้ มันยังมีทาง เจอตำรวจเลยเข้าไปถามทางว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน และจะไปห่าติ่งห์อย่างไร เส้นทางที่เขาบอกมานั้น มันไม่ใช่เส้นทางที่เราต้องการจะไป หากไปตามทางที่เขาบอก เราก็ควรจะเลยไปเมืองวิงห์เลย เพราะถ้าเข้าห่าติ่งห์ ก็จะอ้อม เสียเวลาไปอีก

            คืนนั้นหาที่พักไม่ไกลจากจุดที่พบตำรวจมากนัก รวมแล้ววันนั้นก็ปั่นขึ้นลงเนินอยู่บนเขาเป็นระ.ยะทางประมาณ 60 กม.จากนั้นวันต่อมาก็ปั่นไปตามทางที่เขาบอก ผ่านเมืองเฮืองแค ไปจนถึงทางแยกไปห่าติ่งห์กับวิงห์ แต่ปรากฏเขากำลังทำทางอยู่ สภาพเส้นทางตอนนี้เป็นดินแดง และเนื่องจากฝนตก เลยทำให้ดินแดงเละเป็นดินเลนในบางช่วง ถามเขาดูว่าเป็นแบบนี้กี่กิโลเมตร ลุงที่นั่งอยู่แถวนั้นบอกว่า 5 กิโลเมตร เอาเถอะ ยังไงก็ต้องไป เพราะถ้าไม่แยกไปทางนี้ก็ต้องอ้อมไปตามถนนโฮจิมินห์

            ผ่าน 5 กิโลเมตรไปแล้ว แต่สภาพเส้นทางที่หฤโหดนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดสิ้น กว่าจะหมดก็ 10 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว ผ่านช่วงนี้ไปทางก็เริ่มดีขึ้น แต่มันเป็นทางเล็กๆในชนบท ปั่นผ่านไปก็ได้แวะดูวิวไปเรื่อยด้วย แวะถามทางคนไปเรื่อย ดูแผนที่จากมือถือประกอบไปด้วย จนในที่สุดก็ไปถึงทางแยกถนนสาย 6 ที่เชื่อมไปถึงถนนสาย 1A หรือ AH1 ที่เป็นถนนสายใหญ่ของเวียดนามตัดผ่านหัวเมืองสำคัญตั้งแต่เหนือจรดใต้

            จากถนนสายนี้ยังต้องปั่นต่อไปอีก 300 กว่ากิโลเมตร เพื่อไปให้ถึงกรุงฮานอย รถราพลุกพล่านมากขึ้น เสียงแตรแทบไม่เคยหยุดเงียบ สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่กำลังออกรวงสวยงาม ส่วนริมทางเต็มไปด้วยดอกหญ้าเล็กๆเต็มไปหมด ความเงียบสงบและวิวธรรมชาติป่าเขาที่เคยเห็น ก็ถูกแทนที่ด้วยเสียงแห่งความอึกทึก แต่เสียงที่ยังไม่เคยเงียบลงคือเสียง "เฮลโล" ทักทายจากผู้คนสองข้างทาง บ้างก็มาจากคนบนรถบรรทุกนั่นแหละ ผมถูกจ้องมองจากสายตาแทบทุกคู่ที่ผมปั่นจักรยานผ่าน ราวกับว่าพวกเขาไม่เคยเห็นใครทำอะไรแบบนี้มาก่อน แล้วก็มักจะตามมาด้วยเสียงตะโกนทักทาย และที่ผมรู้สึกแปลกคือ หลายคนที่ไม่แค่ส่งเสียงทักทายเท่านั้น แต่ยังกวักมือเรียกให้ผมเข้าไปหา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผมไม่คิดว่าจะทำแบบนี้ ถ้าผมเจอคนปั่นจักรยานผ่านมา หรือมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่นี่ที่จะทักทายและกวักมือเรียกคนต่างถิ่นแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในชนบท แต่ในเมืองก็ยังมีคนที่กวักมือเรียกเช่นนี้อยู่ 


             นอกจากรถใหญ่ ก็มีรถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ที่ใช้ร่วมทางบนถนนสายหลักที่มุ่งตรงไปกรุงฮานอย ชาวเวียดนนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์กันมาก เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และยังมีการตัดแปลงเอาไปบรรทุกของต่างๆ ขณะกำลังปั่นจักรยานอยู่บนไหล่ทางที่บางช่วงก็กว้าง บางช่วงก็แคบ มอเตอร์ไซค์ที่ติดพ่วงคันหนึ่งก็แซงหน้าไปและหันกลับมามองข้างหลัง ปรากฏว่าพ่วงของเขาเฉี่ยวกระเป๋าด้านข้างจักรยานที่ติดอยู่ตรงล้อหนา ทำให้ผมต้องหยุดรถ ขณะที่หมอนั่นขี่มอเตอร์ไซค์ต่อจากไปอย่างไม่สนใจใยดี เป็นบทเรียนที่ทำให้ต้องระวังรถให้มากขึ้น

              หลังจากเสร็จภารกิจในกรุงฮานอย ผมก็คงจะสามารถปั่นจักรยานไปเรื่อยๆ และหยุดแวะพักได้ตามใจต้องการมากขึ้น คงจะได้ออกจากถนนสายใหญ่กลับไปปั่นบนถนนสายเล็กที่ตัดผ่านชนบทของเวียดนามอีกครั้ง และอาจจะได้ชื่นชมความงามของวิวสวยงามระคนไปกับความหวาดระแวงเช่นเดิม

Wednesday, May 8, 2013

วันดีคืนร้ายที่บ้านนาแดน...ลาว

            การเดินทางวันที่ 12 ผมเริ่มปั่นเข้าสู่ถนนหมายเลข 12 ที่เริ่มต้นจากเมืองท่าแขกของลาวไปถึงเวียดนาม ถือเป็นเส้นทางสายสั้นที่สุดที่สามารถเดินทางจากไทยไปถึงเวียดนาม เพราะระยะทางจากท่าแขกซึ่งอยู่ตรงข้ามอำเภอเมืองนครพนมของไทย ไปถึงพรมแดนลาว-เวียดนามแค่ 146 กิโลเมตรเท่านั้น

 

            กว่าจะออกเดินทางได้ก็ 11 โมงกว่าเข้าไปแล้ว เพราะมัวแต่ไปทำธุระเรื่องซิมโทรศัพท์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้ และโน้ตบุ๊คที่ไม่รู้ว่าจะใช้กับซิมโทรศัพท์อย่างไร สุดท้ายแก้ไขได้แค่เรื่องแรก เอาไว้ไปถึงเวียดนามค่อยหาทางแก้ไขต่อ

            ผมได้ลองขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านบางส่วนของถนนเส้นนี้ในการเที่ยวชมถ้ำตั้งแต่วันก่อนหน้าแล้ว วันนี้ได้มาปั่นจักรยานผ่านทางเดิมอีกครั้ง แต่ก็ยังรื่นรมย์กับการชมวิวภูเขาหินนับร้อยนับพันลูกอยู่ ดีที่ถนนสายนี้เป็นการตัดถนนไปบนทางราบที่ผ่านภูเขาหิน ไม่ได้เป็นถนนขึ้นเขา ก็เลยปั่นได้อย่างสบายๆเรื่อยๆ และไม่ได้เหนื่อยมากนัก ปั่นไปเรื่อยๆกิโลแล้วกิโลเล่าก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดวิวภูเขาหินที่มีต้นไม้เขียวๆขึ้นปกคลุมอยู่เสียที ก็นี่แหละคือวิวที่มองข้ามโขงมาเห็นตอนอยู่ที่นครพนม ตอนนั้นทึ่งมากกับวิวภูเขาสลับซับซ้อนในฝั่งลาว จนทำให้ตกใจเล็กน้อยว่า เส้นทางที่ผ่านภูเขาเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

            ผมหยุดแวะถ่ายภาพวิวสวยๆ ภาพเด็ก ภาพผู้คนไปเรื่อยๆ เด็กๆลาวส่งเสียงทักทาย "สะบายดี สะบายดี" เป็นระยะๆ บางคนก็เรียกผมว่า "ฝรั่งๆ" เขาคงนึกว่าคนที่ปั่นจักรยานปิดหน้าปิดตาอยู่นี่คือฝรั่งล่ะมั้ง
           

            เส้นทางสายนี้ก็ไม่ถือว่าเปลี่ยวนัก มีบ้านคนอยู่เป็นระยะๆ ร้านค้าก็เห็นตลอดทาง เพียงแต่ไม่มีของให้เลือกกินได้มากนัก มีน้ำมีนมขาย ผมแวะศาลาที่มีชาวบ้านเอาของมาวางขาย เดินดูสินค้าต่างๆ มีเห็ด มีเขียด มีหน่อไม้ และก็มีมะพร้าว ซึ่งเป็นอย่างเดียวที่ซื้อกินได้ตอนนั้น นั่งพักไปด้วย กินไปด้วย ชาวบ้านต่างสนใจกับจักรยานและสอบถามเรื่องราวการเดินทางของผม

            ผมเลยลองถามว่า ในลาวนี่ถ้าไปขอพักที่วัดเขาจะให้พักหรือเปล่า ชาวบ้านบางคนบอกว่าให้ บางคนก็ว่าไม่ให้ แต่เขาแนะนำให้เข้าไปหา "นายบ้าน" หรือ ผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งความประสงค์ก่อน

           ปั่นไปเรื่อยๆก็ไปเจอตลาดริมทางที่ชาวบ้านเอาของป่ามาขาย ตอนกำลังจะจอดรถ ต้องตกใจกับสินค้าที่แม่ค้าผูกไว้กับเสาร่ม มันคืองูสิงห์ โอ้ สดๆเป็นๆยังมีชีวิตอยู่จากป่าของแท้เลย นอจากนั้นก็เจอเห็ดป่าหลายชนิด ทั้งดอกเล็กดอกใหญ่ เห็ดน้ำหมากก็มี ทำให้นึกถึงแกงเห็ดที่แม่เคยทำให้กินตอนเด็กๆ และไม่ได้กินแกงนี้มานานมากแล้ว จอดแวะดูแวะถ่ายรูป แวะคุยกับชาวบ้านถามนั่นถามนี่ไปเรื่อย แล้วก็ปั่นต่อไป

           วิวภูเขาหินก็ยังคงไม่หมด บางลูกเป็นหน้าผาสูง เบื้องล่างเป็นทุ่งนา เป็นบ้านคน ขณะที่ผมกำลังคิดว่าคืนนี้จะไปพักที่ไหนดี ความคิดแว้บหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า ถ้าหาที่พักไม่ได้จริงๆ ก็น่าจะเป็นป่าใต้หน้าผาภูเขาหินนี่แหละ มันคงเป็นบรรยากาศที่ดีมาก อาหารก็มีข้าวเหนียวกับแจ่วเหลือจากตอนมื้อกลางวัน ไม่ต้องห่วงว่าจะอด

          แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนลงเรื่อยๆ มองหันหลังไปดูเห็นดวงตะวันสีแดงกำลังเลื่อนลง ปั่นจักรยานไปด้วย มือก็หยิบกล้องในกระเป๋าออกมากะจะบันทึกภาพความงามนั้นไว้ แต่แค่เสี้ยววินาทีที่ผมเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมๆกับที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนตกลงจากท้องฟ้า เหลี่ยมมุมมันก็เปลี่ยนไป จนไม่เห็นภาพความงามนั้นเสียแล้ว

          หมู่บ้านเริ่มอยู่ห่างกันมากขึ้น ขณะที่ผมกำลังคิดว่าจะลองนอนข้างทางดีหรือไม่ เพราะฟ้าใกล้มืดและถ้าจะนอนจริงๆก็ต้องหาทำเลและกางเต็นท์ให้เสร็จก่อนมืด ต้องหามุมที่มองจากข้างทางไม่เห็น หลบสายตาคนหน่อย แต่จู่ๆก็ปั่นผ่านจุดที่เขากำลังก่อสร้าง และเห็นคนงานหลายคนกำลังทำกับข้าวกินกันอยู่ผมเลยแวะเข้าไปถามว่า ข้างหน้ามีหมู่บ้านคนหรือไม่ ตอนแรกกะว่าจะเขาเขากางเต็นท์นอนแถวนั้นด้วยซ้ำ พี่เขาบอกว่ามีหมู่บ้านนาแดน อยู่ห่างไปอีก 4 กิโลเมตร

          ผมนับหลักกิโลที่ปั่นผ่านจากหลักกิโล 66 ไปจนถึง 63 ยังไม่ทันเจอหลักกิโล 62 ก็ถึงบ้านนาแดนที่พี่เขาบอกแล้ว ผมถามชาวบ้านว่าวัดอยู่ตรงไหน และตรงไปตามทางที่ชาวบ้านชี้บอกทันที

          พอถึงประตูวัด เณรและเด็กที่เล่นกันอยู่แถวนั้นก็เปิดประตูต้อนรับ ราวกับรู้ว่า คืนนี้ผมจะมาขอค้างแรมที่นี่ ผมถามหาหลวงพ่อ เณรชี้ไปที่กุฏิยกพื้นใต้ถุนสูง ผมแหงนหน้าขึ้นมองก็เจอกับพระที่ยังไม่น่าจะเรียกว่าหลวงพ่อได้ เพราะท่านยังดูเด็กกว่าผมเสียอีก หลวงพี่บอกว่าขึ้นมานอนที่ชานด้านบนก็ได้ ผมก็เลยขนสัมภาระขึ้นไปวางไว้ที่นอกชาน เพราะตรงนี้อุ่นใจอยู่ใกล้พระ

          หลังจากกางเต็นท์ขนสัมภาระเข้าไปเสร็จ ก็อาบน้ำ ซักผ้า แต่งตัว เตรียมออกไปหาของกิน แต่ยังไม่ทันจะได้ไปไหน ก็เห็นชายสามคนเดินขึ้นมาที่กุฏิและเรียกผมไปคุย ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดจริงๆ

 


         คนที่เป็นคนนำมากลับไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้าน แต่เป็นคนแถวนั้น เขาซักประวัติ ถามที่มาที่ไป เป็นคนที่ไหน ทำไมมาที่นี่ ผมก็เล่าไป แล้วเขาก็ขอดูหนังสือเดินทางของผม ผมก็หยิบมาให้ดู ถามอะไรมาก็ตอบไป จนหมดคำถาม จากนั้นก็เขียนบันทึกให้ผมเซ็นชื่อต่อท้ายว่าเป็นผู้มาขอพัก เสร็จธุระ ผมก็ขอตัวไปหาข้าวเย็นกิน

         โชคดีที่มีไฟติดหัวมาด้วย เพราะทางที่ออกไปหน้าปากซอยมืดมาก ถ้าไม่มีไฟส่อง ก็แทบจะมืดสนิทเลยก็ว่าได้ ไปถึงร้านเฝอ เขาก็เกือบจะปิดร้านอยู่แล้ว เขาก็ยังอุตส่าห์ทำให้กิน กินอิ่มก็ปั่นจักรยานกลับวัด โดยมีน้องคำ เด็กชายในหมู่บ้านปั่นเป็นเพื่อนทั้งขาไปขากลับ กลับไปแล้วก็ยังเจอชาวบ้านกลุ่มเดิมนั่งอยู่ที่ชาน

          ช่วงนั้นยังไม่หายดีจากอาการหวัด และยังไออยู่โดยเฉพาะในช่วงค่ำที่อากาศเย็น ไอจนเจ็บที่หน้าอกข้างขวา และคิดว่าได้เอนตัวลงนอนอาการน่าจะดีขึ้น แต่ยังไม่ทันที่จะนอนได้ถึงสองนาที ก็มีเจ้าบ้านคนใหม่มาหา คราวนี้เป็นตำรวจใส่เครื่องแบบมาเต็มยศเลยทีเดียว

          อะไรกันนี่! นึกว่าจะคุยจนจบแล้ว นี่ถึงขนาดเรียกตำรวจมาคุยต่อเลยเหรอ ผมก็ต้องออกไปนั่งตอบคำถามตำรวจ ซึ่งหลายคำถามก็ซ้ำๆกับที่ชาวบ้านถามไปแล้ว เขาบอกว่าเขาเป็นห่วงความปลอดภัยของเรา มาคนเดียวเกิดเป็นอะไรไปจะเป็นเรื่องใหญ่ ตำรวจหนุ่มลงไปสูบบุหรี่และโทรศัพท์ข้างล่างกุฏิพร้อมกับถือพาสปอร์ตผมไปด้วย ก่อนจะกลับขึ้นมาอีกรอบ คราวนี้บอกว่า "ขอตรวจค้นเครื่อง"

          นี่ผมเป็นผู้ต้องหาก่อคดีอาชญากรรมหรืออย่างไรกันนะ ผมเป็นแค่นักเดินทางด้วยการปั่นจักรยานมา และตกค่ำต้องหาที่พักค้างแรม มาขอความเมตตากรุณาจากที่วัด ก็แค่นั้น ถึงตอนนั้นทำไงได้ ตัวคนเดียว เป็นคนไทยคนเดียวในหมู่คนลาว เป็นผู้มาเยือนไม่ใช่เจ้าถิ่น เป็นเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ เขาต้องการอะไร ผมก็คงต้องยอมไปก่อน แม้ว่าผมคิดว่ามันออกจะเกินไปเสียหน่อย ถ้ารู้ว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตขนาดนี้ ผมคงยอมนอนค้างแรมในป่าที่ไม่มีคนมายุ่มยามให้ลำบากใจดีกว่า

          เขาค้นของในกระเป๋าสัมภาระทุกใบที่ผมนำมา ถามว่านี่อะไร นั่นอะไร ผมก็อธิบายไปอย่างละเอียด จนสุดท้ายก็เก็บของคืน พี่ตำรวจบอกว่าจะเก็บพาสปอร์ตผมไว้ก่อน ตอนเช้าจะเอามาคืน ผมก็ยอม เขาบอกว่าจะมีตำรวจมานอนบนกุฏิเป็นเพื่อน ผมก็บอกขอบคุณครับ ดีจะได้มีเพื่อนนอน ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย

          เขาบอกว่า เขากลัวเราเป็นอะไรไป เกิดนอนๆอยู่แล้วเกิดหายใจไม่ออก เป็นอะไรขึ้นมา จะได้มีคนช่วย ครับ ขอบคุณมากครับผมที่เป็นห่วงผมมากขนาดนี้

          ถึงเวลาพักผ่อนของผมเสียที แทนที่ไดอะรี่วันนี้จะได้บันทึกเรื่องราวความสวยงามของวิวข้างทางที่ปั่นผ่านมาก่อน ผมก็รีบบันทึกเรื่องที่เกิดขึ้นในค่ำวันนั้นก่อนเรื่องอื่น เพราะผมสุดแสนจะประทับใจในความห่วงใยของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจริงๆ

          ผมเขียนไดอะรี่จนเสร็จ ลุงคนหนึ่งที่มานอนอยู่ที่ชานด้วย หลับไปแล้ว ตำรวจที่ว่าจะมานอนเป็นเพื่อนก็ยังไม่เห็นมา คืนนี้หลังจากเข้าเต็นท์ไป ผมก็ไม่ออกมาอีกเลยจนรุ่งเช้า แม้ว่าจะปวดฉี่นิดหน่อย ก็อั้นเอาไว้ก่อน เพราะกลัวเหลือเกินว่าเขาจะห่วงผม ว่าผมตื่นมาลงไปห้องน้ำตอนดึก เป็นอะไรหรือเปล่า

          หลังจากผ่านพ้นค่ำคืนนั้นไป เช้าวันต่อมา ฝนตกตั้งแต่เช้า ชาวบ้านผู้หญิงเอากับข้าวกับปลามาถวายพระ พอพระเณรฉันเช้าเสร็จ เขาก็จัดสำรับอาหารไว้ต้อนรับผมอย่างดี และให้น้องคำนั่งกินข้าวเป็นเพื่อน กว่าฝนจะหยุดก็ 9 โมง ผมถึงได้ออกเดินทางต่อ ขอบคุณในน้ำใจของชาวบ้านนาแดน ตำรวจคนเดิมเอาพาสปอร์ตมาคืน และยังกำชับว่า อย่านอนป่า ถ้าไปยังไม่ถึงพรมแดนก็ให้หาหมู่บ้าน เข้าไปหา "นายบ้าน" ขอนอน

           สรุปบทเรียนที่ได้จากค่ำคืนนั้น ก็คือ ถ้าหาที่พักไม่ได้ให้ไปหานายบ้าน อย่าไปวัด แล้วเดี๋ยวเขาจะช่วยจัดการเอง ก็เหมือนกับที่ชาวบ้านที่ตลาดริมทางแนะนำ ว่าให้ติต่อนายบ้านก่อนนั่นแหละ เพราะที่นี่ลาว ไม่ใช่ไทย ที่ค่ำไหนก็หาวัดแถวนั้นนอน ติดต่อพระได้โดยตรง  แต่ถ้าไปติดต่อนายบ้านก่อนจะเจอเหตุการณ์แบบเมื่อคืนหรือเปล่า ผมไม่ได้ถามตำรวจ แต่ถ้าติดต่อแล้วยังเจอกระบวนการตรวจสอบแบบนี้ดี ผมว่านอนป่าอยู่กับธรรมชาติยังน่าอภิรมย์กว่า

Tuesday, May 7, 2013

ห่วงใย เข้าใจ ปล่อยไป

         ภาพที่พ่อกับแม่ช่วยกันปะรูรั่วที่ก้นกระติกน้ำอย่างดีที่ธนาคารต่างชาติให้มาตอนสมัยเป็นนักข่าวสายธนาคาร ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความห่วงใยของท่าน กระติกน้ำที่ผมคิดจะโยนทิ้ง กลับมาใช้งานได้ดีและกลายเป็นของมีค่าขึ้นมาทันที

         "เอาเสื้อลงยันต์นี้ไปด้วย" พ่อหยิบเสื้อแจ็กเก็ตที่มีลายปักยันต์เต็มด้านหลังข้างในที่ไปบูชามา มาให้สำหรับใส่ระหว่างเดินทางปั่นจักรยาน ลองใส่ดูก็พอดี แต่มันเป็นเสื้อที่ใส่แล้วร้อน ไม่เหมาะกับการใส่ปั่นจักรยานเลยสักนิด แต่เราก็รับไว้ เพราะรู้ว่าพ่อห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูก ส่วนตัวผมไม่เคยพกเครื่องลางของขลังพวกนี้เลยเวลาเดินทาง แต่เมื่อพ่อให้มา ก็รับไว้ และยัดใส่กระเป๋าเดินทางที่แน่นอยู่แล้ว คิดว่าอย่างน้อยก็คงจะได้ใช้ในงานทางการ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่ เหอะๆ

          ตอนแรกนึกว่าพ่อแม่จะคัดค้าน แต่ก็ผิดคาด นอกจากจะไม่คัดค้านแล้ว ยังพยายามช่วยเตรียมตัวเพื่อให้เราเดินทางได้อย่างราบรื่นขึ้น นี่แหละคือสิ่งที่ต้องการจากทางบ้าน เพราะถ้าพ่อกับแม่ค้าน ผมคงจะเสียกำลังในการเดินทางมาก

          พ่อกับแม่คงจะเข้าใจนิสัยของผมดีว่า ถึงห้ามไปก็คงห้ามไม่ได้ เพราะเป็นคนดื้อ จะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ อีกอย่างผมเองก็โตแล้ว และมีประสบการณ์ในการเดินทางมากพอสมควร นับตั้งแต่ประสบการณ์เดินทางต่างประเทศคนเดียวครั้งแรก คือตอนกลับจากสหรัฐฯที่แวะเที่ยวที่นครซานฟรานซิสโกคนเดียวก่อนกลับ เดินทางไปจีนคนเดียวด้วยรถทัวร์และรถไฟ เดินเท้ากลับบ้านจากจังหวัดเลยถึงชัยภูมิ หลังจากลาสิกขา ปั่นจักรยานจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนคนเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวหลายครั้ง

           สุดท้าย พ่อกับแม่ก็ต้องปล่อยผมไปตามทางที่ผมเลือกเอง โดยท่านได้แต่คอยให้คำแนะนำ และคอยดูเราอยู่ห่างๆ
          
          

           แม่ออกมาส่งผมที่หน้าบ้าน ผมอัดวิดีโอตอนที่บอกลาแม่ และอดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้เมื่อเห็นแม่ร้องไห้ เพราะผมรู้ว่านั่นคือน้ำตาแห่งความห่วงหาอาทรที่แม่มีต่อผม ผมบอกแม่ว่า ผมรู้ว่ามันเหนื่อย แต่อยากจะลองทำดู ขอให้แม่คอยดูการเดินทางของผมทางเฟซบุ๊คที่ให้ไว้

           ผมปั่นจักรยานออกถนนใหญ่ที่อยู่หน้าบ้านไปเพียงลำพัง ถึงเวลาต้องไปอย่างโดดเดี่ยวอีกครั้ง ผมชินกับการเดินทางคนเดียว การอยู่กับตัวเองแบบนี้ ขอบคุณพ่อกับแม่มากที่ห่วงใย และเข้าใจ และปล่อยผมให้โบยบินไปอย่างอิสระเสรีบนเส้นทางที่ผมเลือกเอง

         

ยางมงคล

           บ่ายวันที่สองของการเดินทาง ผมปั่นจักรยานมาถึงปากช่องแล้ว และกำลังจะเข้าลำตะคองในอีกไม่นาน แต่จู่ๆก็รู้สึกว่าปั่นแล้วล้อมันไม่ค่อยอยากจะหมุนไปตามแรง เมื่อจอดและสอดสายตามองดูจึงรู้ว่า ยางรั่วแล้ว

           เป็นเรื่องธรรมดาของการปั่นจักรยานเดินทาง ไม่ช้าก็เร็วที่ต้องพบเจอกับปัญหานี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไร ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตีโพยตีพาย ก็รู้ว่ามันรั่วแล้วก็เปลี่ยน ปะ จัดการกับมันให้เรียบร้อยเพื่อให้ปั่นต่อไปได้ ก็แค่นั้น

            ผมจัดการถอดล้อ งัดยางในออกมา เอายางอะไหล่ที่เตรียมมาเปลี่ยน แต่ปรากฏว่าหัววาล์วมันใหญ่เกินรูที่ขอบล้อ จำใจต้องเอายางเส้นเดิมที่รั่วมาปะ ครั้นจะปะ กาวก็หมด ยังดีที่มีร้านปะยางอยู่ใกล้ ไปขอซื้อกาว เขาใจดีแบ่งมาให้ไม่คิดสตางค์ แถมกำชับว่า อย่าเอาไปดมนะ โถ่ พี่ ผมเหมือนเด็กติดยาหรือไง
 

           ถ่ายวิดีโอไปด้วย ปะยางไปด้วย เหงื่อหยดติ๋งๆ เด็กหญิงในร้านอาหารได้แต่นั่งมองแล้วยิ้มในท่าทางประหลาดของเรา ไม่สนใจใคร เดินทางคนเดียว ก็ต้องทำเองทุกอย่าง แบบนี้แหละ

           ใช้พื้นที่หน้าร้านอาหารปะยางจนเสร็จ เลยซื้อน้ำร้านเขาดื่มซะหน่อย จากนั้นค่อยออกเดินทางต่อ ปั่นมาได้หน่อยเดียว บังเอิญ เจอคุณลุงที่มีสัมภาระพะรุงพะรังบนจักรยานเหมือนเรา กำลังนั่งเขียนบันทึกการเดินทางอยู่ริมถนน ประหนึ่งเป็นโซฟาชั้นดี ไม่ได้กลัวรถราคันใหญ่ๆจะวิ่งมาเฉี่ยวมาชนเลย

           ผมเลยหยุดแวะทักทาย คุณลุงซะหน่อย คุยไปคุยมา เลยรู้ว่าแกก็กำลังจะปั่นไปลาว เข้าเวียดนามเหมือนกัน แถมแกเป็นคนนครพนม จังหวัดที่ผมกำลังจะเดินทางไปด้วย สัมภาษณ์คุณลุงเสร็จ พอจะเดินทางต่อปรากฏว่า ยางเริ่มแบนลงนิดหน่อย อาการนี้แสดงว่ามีการซึมออกของลมที่รอยแผลปะยาง ชัวร์

           ตอนนั้นแก้ปัญหาด้วยการเติมลมยางให้มันพอปั่นไปถึงที่จะพักค้างแรมคืนนี้ก่อน แล้วค่อยจัดการแก้ปัญหา โชคดี ปั่นไปไม่กี่กิโลเมตร ก็ถึงลำตะคอง เลยถามหาร้านปะยาง เขาบอกให้ปั่นย้อนกลับเข้าไปทางประตูวัด เวลาก็เริ่มเย็นแล้ว ปั่นได้แค่ 70 กิโลเมตรเท่านั้น เอาเหอะ ในเมื่อถึงเวลาต้องหยุดก็หยุด ถามหาร้านซ่อม หาจนเจอ แต่ช่างกลับไม่อยู่ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เลยขอพระคุณเจ้ากางเต๊นท์นอนในบริเวณวัดเสียเลย เป็นการนอนวัดคืนที่สองติดกัน

           ตกค่ำ หลังจากลงไปเล่นน้ำในลำตะคอง เป็นการอาบน้ำเย็นไปในตัว กลับมาแต่งตัว เตรียมเอายางไปปะ เจ้าของร้านปะยางก็ยังไม่อยู่ เลยไปหาข้าวกิน กลับมาก็ยังไม่กลับ เมียเจ้าของร้านเลยคะยั้นคะยอลูกชายวัยรุ่นอายุประมาณ 14-15 ปี ช่วยปะยางให้เรา แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ปะแล้วก็ยังรั่วซึม เลยแก้ปัญหาด้วยการเอาขอบล้อมาให้น้องเขาใช้สว่านคว้านรูให้มันใหญ่ขึ้นเพื่อใส่ยางอะไหล่ที่เตรียมมาได้

           เช้าวันต่อมาเตรียมออกเดินทาง รู้สึกว่ายางหลังยางอ่อนไปหน่อย จึงกลับไปร้านปะยางข้างวัดเหมือนเดิม คราวนี้เจอพี่ผู้ชายเจ้าของร้านแล้ว เติมลมเสร็จ โบกมือบ๊ายบายเตรียมเดินทางต่อ ยังไม่ทันไร เสียงตูม ดังขึ้น จนคนแถวนั้นตกใจ ยางหลังระเบิด ไม่เป็นไร ยังเหลือยางอะไหล่เส้นสุดท้าย จัดการเอาสัมภาระออกจากจักรยานแล้วเปิดกระเป๋าเอายางเส้นสุดท้ายออกมา
           ปรากฎว่านอกจากยางในที่มีปัญหา ยางนอกก็มีปัญหา ขอบยางเริ่มเสื่อม หรือนี่คือสาเหตุที่ทำให้ยางระเบิด แต่จะทำไงได้ ต้องปั่นต่อ ไว้ค่อยไปหาซื้อยางนอกมาเปลี่ยนที่หลัง ส่วนช่างแนะนำให้เอายางเก่าของพี่เขามาใช้ เพราะเขาไม่ได้ใช้แล้ว เขาห่วงว่าเราจะปั่นไปไม่ถึงไหน แต่ผมก็เกรงใจเขาจริงๆ เลยยืนยันใช้ของตัวเอง พอเติมลมเข้าไป ยางก็ระเบิด สุดท้าย ไม่เหลืออะไรเลย ยางนอกก็ใช้ไม่ได้ ยางในก็หมดเกลี้ยง จำเป็นต้องอาศัยยางของพี่เจ้าของร้านปะยางที่เขาให้ลูกชายกุลีกุจอไปหามาให้ และโชคดีที่ใช้ได้ ทั้งยางนอกยางใน ทำให้เราปั่นต่อไป พี่เขายืนยันว่าแบบนี้ไปได้อีกไกล แต่แนะนำให้เราไปหายางนอกยางในเปลี่ยนที่ สีคิ้ว

            ผมปั่นออกจากร้าน ขึ้นสู่ถนนใหญ่ด้วยความรู้สึกตื้นตัน จนอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ อย่าหาว่าเว่อร์เลย แต่มันรู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำให้กับเราโดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ค่าบริการก็ไม่คิดซักบาท มันคือน้ำใจที่เราได้รับมาเต็มๆอก จนมันดันให้น้ำในตาของเราไหลออกมา ขอบคุณมากจริงๆครับ

            ปั่นไปจนถึง สีคิ้ว จัดการเปลี่ยนยางนอกยางใน เตรียมอะไหล่ให้พร้อม เสร็จแล้วเดินทางกลับบ้านต่อ ส่วนยางเก่าเส้นนั้น เก็บไว้เป็นอะไหล่ ไปไหนไปด้วย จากเดิมที่ไม่คิดจะพกยางอะไหล่ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมรู้สึกว่ามีติดตัวไว้สักเส้นก็อุ่นใจดีเหมือนกัน โดยเฉพาะยางเส้นเก่าที่พี่เขาให้มาเส้นนี้ มันกลายเป็นของมงคล ที่มีติดท้ายจักรยานไว้แล้ว มันรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก เผื่อเกิดปัญหา หรือพบเจอคนที่เขาต้องการใช้มัน เราก็จะได้ใหเขาได้ใช้ต่อ เป็นการส่งต่อความดี หรือที่เขาเรียกว่า pay it forward